สรุปเงื่อนไข Easy E-receipt 2568 ใช้ร้านไหน ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ฉบับสมบูรณ์
January 20, 2025

เริ่มกันแล้วกับโครงการ Easy E-receipt ที่ในปีนี้ กรมสรรพากรได้ออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถนำ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt) จากร้านค้า มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 50,000 บาท ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักกับโครงการ Easy E-receipt กันชัด ๆ และตอบคำถามเกี่ยวกับ e-Tax Invoice และ e-Receipt ว่าต่างกันอย่างไร Easy E-receipt สามารถลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ซื้ออะไรได้บ้าง และคุ้มค่าไหมกับการซื้อสินค้าเพื่อเข้าร่วมโครงการนี้

Easy E-receipt คืออะไร

Easy E-receipt คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2568 โดยมุ่งเน้นที่มนุษย์เงินเดือน หรือคนที่ต้องเสียเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล โดยที่ผู้ที่ซื้อหรือจ่ายค่าบริการในราชอาณาจักร จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท โดยแบ่งเป็น 30,000 บาท สำหรับสินค่าที่ใช้จ่ายในร้านทั่วไป และ 20,000 บาท สำหรับวิสาหกิจชุมชนและร้าน OTOP

โครงการ Easy E-receipt จำกัดเฉพาะการซื้อสินค้าที่มีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) ซึ่งสามารถนำไปลดหย่อนภาษีที่จะยื่นต่อกรมสรรพากรในช่วงต้นปี 2569

Easy E-Receipt เหมาะกับใคร ใครใช้ได้บ้าง

Easy E-receipt เหมาะกับทุกคนที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปี 2569 โดยสินค้าที่ซื้อนั้น สามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามจริง ไม่เกิน 50,000 บาท ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งได้ลดหย่อนมาก ยกเว้นว่าท่านมีรายได้ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี หรือมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 25,833.33 บาท ซึ่งในกรณีนี้ ท่านจะได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์

Easy E-receipt ลดหย่อนภาษี 2568 เริ่มเมื่อไร จบเมื่อไร

โครงการ Easy E-receipt เริ่มใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568

e-Tax คืออะไร ต่างจาก e-Receipt อย่างไร

e-Tax Invoice คือใบกํากับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีหมายเลขใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Certificate) และลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) เป็นเครื่องยืนยันตัวตนของผู้ออกใบกำกับภาษี (ผู้ขาย) และรับรองถึงความถูกต้องของข้อมูล และผู้ประกอบการสามารถจัดทำและนำส่งใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ให้กับคู่ค้าทาง Email ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ส่วน e-Receipt คือ ใบรับหรือใบเสร็จรับเงิน ที่ได้มีการจัดทำข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้ลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ด้วยวิธีการที่กรมสรรพากรกำหนด

เงื่อนไข Easy E-receipt 2568 มีอะไรบ้าง

ผู้ที่ต้องการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านโครงการ Easy E-receipt 2568 จะสามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท เมื่อซื้อสินค้าตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 โดยมีการแบ่งวงเงินลดหย่อน 2 ส่วนดังนี้

1. วงเงินส่วนแรก 30,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าทั่วไปกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้ประกอบการนี้ จะสามารถออกใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบในแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือผู้ให้บริการที่ไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องสามารถออกใบรับอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt ได้

2. วงเงินส่วนที่สองคือ 20,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้ากับร้านค้า OTOP หรือร้านค้าวิสาหกิจชุมชน ที่เข้าเงื่อนไขต่อไปนี้

  • สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
  • สินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  • สินค้าหรือบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

นอกเหนือจากสินค้า OTOP แล้ว ในกรณีที่ร้านค้าที่ท่านใช้บริการ ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ท่านสามารถนำใบเสร็จอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Receipt จากผู้ประกอบการดังกล่าวมาร่วมโครงการ Easy E-receipt หากสินค้าและบริการที่ท่านซื้อคือ

1) หนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร
2) หนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ (e-Book)

3. e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

โครงการ Easy E-receipt ลดหย่อนภาษี ได้เท่าไร

แม้ว่าโครงการ Easy E-receipt จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่การจะได้เงินคืนภาษีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีของแต่ละคน ดังนี้

เงินได้สุทธิต่อปี

ฐานภาษี

เงินคืนภาษีกรณีใช้จ่าย 5,000 บาท

เงินคืนภาษีกรณีใช้จ่าย 10,000 บาท

เงินคืนภาษีกรณีใช้จ่าย 50,000 บาท

ไม่เกิน 150,000 บาทต่อปี

ยกเว้นภาษี

0

0

0

150,001-300,000 บาท

5%

250 บาท

500 บาท

2,500 บาท

300,0001-500,000 บาท

10%

500 บาท

1,000 บาท

5,000 บาท

500,001-750,000 บาท

15%

750 บาท

1,500 บาท

7,500 บาท

750,001-1,000,000 บาท

20%

1,000 บาท

2,000 บาท

10,000 บาท

1,000,001-2,000,000 บาท

25%

1,250 บาท

2,500 บาท

12,500 บาท

2,000,001-5,000,000 บาท

30%

1,500 บาท

3,000 บาท

15,000 บาท

5,000,001 บาทขึ้นไป

35%

1,750 บาท

3,500 บาท

17,500 บาท

ดังนั้น สำหรับผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกินเดือนละ 25,833.33 บาท ไม่จำเป็นต้องขอใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) จากร้านค้าแต่อย่างใด เพราะท่านได้รับการยกเว้นภาษีโดยอัตโนมัติแล้ว

Easy E-receipt ซื้ออะไรได้บ้าง ที่ไหน

ท่านสามารถซื้อสินค้าและบริการจากร้านที่จดทดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เกือบทุกประเภท ยกเว้นสินค้าและบริการที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยที่ท่านสามารถตรวจสอบร้านค้าหรือผู้ประกอบการที่สามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้ ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ดังนี้

  1. เข้าไปที่เว็บไซต์กรมสรรพากร ซึ่งจะเปิดชื่อผู้ประกอบการที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี/ใบรับ ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt และ e-Tax Invoice by Time Stamp
  2. กรอกเงื่อนไขค้นหาอย่างน้อย 1 เงื่อนไข
  3. แสดงผลรายชื่อร้านค้าที่สามารถออก e-Tax Invoice ได้
easy-e-receipt-2025-tax-deduction-guide

ร้านค้า OTOP ที่เข้าร่วมโครงการ Easy E-receipt

และสำหรับท่านที่ต้องการซื้อสินค้า OTOP สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านวิสาหกิจเพื่อชุมชน และร้านวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้ตามดังนี้

นอกจากนี้ ร้านค้า OTOP ที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้า เช่น โลตัส เซเว่นอีเลฟเว่น แม็คโคร หรือร้านค้า OTOP ตามแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Shopee Lazada ก็สามารถเข้าร่วมโครงการ Easy E-Receipt ได้เช่นกัน โดยให้สังเกตที่สัญลักษณ์นี้

สินค้าและบริการ ที่ไม่เข้าร่วมโครงการ Easy E-receipt 2568

แม้ว่าเราจะสามารถซื้อสินค้าได้เกือบทุกประเภทในโครงการ Easy E-receipt เพื่อนำมาลดหย่อนภาษีได้ แต่จะมีสินค้าและบริการบางประเภทที่ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการ ดังต่อไปนี้

  1. ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  2. ค่าซื้อยาสูบ
  3. ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  4. ค่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และค่าซื้อเรือ
  5. ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  6. ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลา
    ระหว่างวันที่ 16 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2568 เช่น ค่าสมาชิกต่าง ๆ
  7. ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  8. ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว
  9. ค่าที่พักในโรงแรม
  10. ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย
  11. ค่าที่พักที่ไม่เป็นโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม

คำถาม – คำตอบ ที่พบบ่อย เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-receipt

ซื้อของจากร้านค้าออนไลน์ใน Shopee Lazada TikTok Shop หรือแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-receipt ได้หรือไม่

คำตอบ ท่านสามารถซื้อสินค้าจากร้านค้าและแพลตฟอร์มออนไลน์ทั้งใน Shopee Lazada TikTok Shop และสามารถลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-receipt ได้ แต่ต้องตรวจสอบกับร้านค้านั้น ๆ ก่อนว่าสามารถออก e-Tax Invoice หรือ e-Receipt ได้หรือไม่ หรือร้านค้านั้น ๆ ได้เข้าร่วมโครงการ Easy E-receipt หรือไม่

โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ไอที สามารถลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

คำตอบ อุปกรณ์ไอที โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก หรืออื่น ๆ ไม่ว่าจะซื้อจากร้าน Official หรือร้านค้าทั่วไป สามารถใช้ลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-receipt ได้

ทองคำแท่ง ทองรูปพรรณ สามารถลดหย่อนภาษีจาก Easy E-receipt ได้หรือไม่

คำตอบ ทองคำแท่งได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ ส่วนทองรูปพรรณสามารถลดหย่อนภาษีได้เฉพาะค่ากำเหน็จ ตามภาษีมูลค่าเพิ่มที่เสียไป หากท่านได้รับ e-Tax Invoice

ค่าซ่อมรถ เปลี่ยนยางรถยนต์ สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในโครงการ Easy E-receipt ได้หรือไม่

คำตอบ ค่าซ่อมรถ เข้าศูนย์ เปลี่ยนยางรถยนต์ ค่าบริการเช่ารถยนต์สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ยกเว้นการซื้อรถยนต์

ค่าทำศัลยกรรม ค่าบริการทางการแพทย์ สามารถหักลดหย่อนภาษีได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เพราะการบริการของสถานพยาบาลได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

หากซื้อสินค้าแล้ว ต้องแจ้งข้อมูลอะไรกับร้านค้าบ้าง เพื่อออก e-Tax Invoice

คำตอบ 1) ชื่อและนามสกุล
2) ที่อยู่
3) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน)
เมื่อแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อมูลการซื้อสินค้าและการรับบริการจะปรากฏ
ใน My Tax Account ของผู้เสียภาษี

ถ้าร้านค้าออกข้อความที่ไม่สมบูรณ์ให้ เช่น เขียนชื่อหรือที่อยู่ผิด จะสามารถนำมาใช้ลดหย่อนได้หรือไม่

คำตอบ หาก e-Tax Invoice มีรายการครบถ้วน แม้จะมีการระบุชื่อหรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด ก็สามารถนำมาใช้หัก ลดหย่อนได้ ทั้งนี้ ควรตรวจสอบว่าเลขประจำตัวประชาชนของผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการถูกต้องหรือไม่
เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลยื่นแบบแสดงรายการภาษี

ที่อยู่ในเอกสาร ต้องเป็นที่อยู่ปัจจุบัน หรือที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน

คำตอบ จะใช้ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านหรือที่อยู่ปัจจุบันก็ได้

Easy E-Receipt คือการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ใช่ไหม

คำตอบ ไม่ใช่ โครงการนี้คือโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อซื้อสินค้าหรือบริการก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ที่จะยื่นในปี 2569 แต่ร้านค้าที่ท่านจะใช้บริการ ต้องเป็นร้านค้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ Vat 7% หรือหากไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ต้องสามารถออก e-Receipt ได้

หากซื้อสินค้า 50,000 บาท จะได้เงินภาษีคืน 50,000 บาท ใช่ไหม

คำตอบ ไม่ใช่ แม้ว่าท่านจะลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่จะได้เงินคืนภาษีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับเงินได้และอัตราภาษีของแต่ละคน

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ


Tags

Easy E-receipt, ลดหย่อนภาษี 2568


บทความที่น่าสนใจ

คู่มือร้านค้าออนไลน์-ร้านเล็ก เข้าร่วม Easy E-Receipt ง่าย ๆ ออก e-tax ได้ไม่กี่ขั้นตอน

คู่มือร้านค้าออนไลน์-ร้านเล็ก เข้าร่วม Easy E-Receipt ง่าย ๆ ออก e-tax ได้ไม่กี่ขั้นตอน

จะรู้ได้อย่างไรว่าเอกสาร e-Tax Invoice ของเรานั้นถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร

จะรู้ได้อย่างไรว่าเอกสาร e-Tax Invoice ของเรานั้นถูกต้อง ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
>